โอกาสในสังคมสูงวัย

แม้อนาคตจะมีความไม่แน่นอนหลายประการ แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอนคือการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Ageing Society) ในหลายประเทศ
ส่งผลกระทบต่ออนาคตของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและคนทำงานอย่างมาก

รายงานล่าสุดของสหประชาชาติ พบว่าสองในสามของประชากรทั่วโลกอยู่ในประเทศที่มีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับที่จะสามารถนำไปสู่การทดแทนของประชากรได้

ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 นี้ โดยมี 32 ประเทศทั่วโลกที่มีอายุเฉลี่ยของประชากรมากกว่า 35 ปี และภายในสิ้นทศวรรษนี้ ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า

ครึ่งหนึ่งของประชากรใน 25 ประเทศดังกล่าวจะมีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป

สำหรับประเทศไทย ถือว่าได้เข้าสู่สังคมสูงวัยเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-aged society) ซึ่งมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ภายในปี 2574 หรืออีกเพียง 8 ปีข้างหน้า

ข่าวสังคมไทย

ประเด็นสำคัญที่ธุรกิจและคนทำงานต้องคำนึงถึงเมื่อสังคมเข้าสู่สังคมสูงวัยมีหลายประการ เมื่อมองภาพรวมของภูมิทัศน์โลก จะพบว่าสังคมสูงวัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก (Shifting Global Markets)

เมื่อปลายปีที่แล้ว ประชากรอินเดียได้ก้าวขึ้นมามีจำนวนมากที่สุดในโลก ในขณะที่ประชากรจีนถึงจุดสูงสุดในปีที่แล้วและมีแนวโน้มจะลดลงไปตลอดหลายทศวรรษข้างหน้า

ในช่วงต้นศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี เป็นประเทศที่มีประชากรอายุมากที่สุดในโลก แต่ในปัจจุบัน ไทยและคิวบามีประชากรสูงอายุไล่เลี่ยกับกลุ่มประเทศข้างต้น

ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตของคนเป็นครั้งแรก จึงอาจเป็นจุดเปลี่ยนแนวโน้มของประชากรประเทศที่กำลังลดลง

ในขณะที่เวียดนาม หรือหลายประเทศในแอฟริกากลับเต็มไปด้วยกำลังแรงงานหนุ่มสาว ที่จะส่งผลให้โอกาสในทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่เปลี่ยนไป